ในทุกๆ ปี สถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านงานวิจัยและพัฒนาอย่างสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT จะคัดเลือกงานวิจัยและเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ที่จะสามารถเป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งบางเทคโนโลยีอาจจะมีประโยชน์ถึงขั้นเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกเลยก็เป็นได้
mRNA Vaccine วัคซีนจากรหัสพันธุกรรม
เราโชคดีที่วัคซีนที่จะใช้รับมือกับการระบาดของ COVID-19 นั้น พัฒนามาจากเทคโนโลยี mRNA (messenger RNA) ซึ่งเป็นการใช้รหัสพันธุกรรมบางส่วนของเชื้อไวรัสมาฉีดกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ที่ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว เทคโนโลยีนี้ทำให้พัฒนาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่ปกติใช้เวลานานถึง 10-15 ปี แต่ mRNA ทำให้เราได้วัคซีน COVID-19 ในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี การถอดรหัสพันธุกรรมนี้จึงถูกคาดการณ์ว่าจะมีบทบาทสำคัญทางการแพทย์ในอนาคต และเป็นความหวังในการต่อยอดไปสู่การรักษาโรคต่างๆ ที่มีอยู่ อย่างมะเร็ง หรือ HIV ได้
GPT-3
ปัญญาประดิษฐ์ด้าน Natural Language Processing (NLP) หรือการเข้าใจภาษามนุษย์ที่เก่งที่สุดในขณะนี้ คือกลุ่ม GPT ซึ่งพัฒนาโดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร OpenAI ซึ่งตอนนี้ได้พัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถเขียนประโยคหรือบทความได้ใกล้เคียงมนุษย์ที่สุดจากการคาดเดาถ้อยคำถัดไปบนรูปประโยค บวกเลข แปลภาษา หรือแม้แต่เขียนโค้ดสำหรับสร้าง AI ด้วยกัน เหตุเพราะถูกฝึกจากหนังสือและข้อความบนอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เข้าใจเนื้อหาและบริบทได้เท่ามนุษย์ เลยยังมีข้อพึงระวังเรื่องอคติ การสร้างข่าวปลอมที่มีความสมจริง และมีโอกาสที่การแสดงผลอย่างไม่สมเหตุสมผลจนสร้างปัญหาได้ จึงยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาต่อ เพียงแต่ก็น่าสนใจว่าเป็น AI ที่มีข้อมูลจากการเรียนรู้จำนวนมาก จนอาจมาแทนที่การเขียนของมนุษย์ในบางประเภทงานได้หรือเปล่า
TikTok Recommendation
ความแตกต่างของ TikTok กับโซเชียลมีเดียอื่นๆ คือการทำงานของอัลกอริธึมในฟังก์ชั่น For You ที่ทำให้คนที่มีความสนใจคล้ายกันมองเห็นคอนเทนต์ของกันและกันมากขึ้นเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น โดยไม่จำเป็นที่เราต้องเป็นคนดังหรือมีชื่อเสียงอะไร ส่งผลให้การใช้ TikTok สร้างความสุขได้แตกต่างจากโซเชียลมีเดียอื่นๆ มีผู้ใช้หน้าใหม่ๆ ช่วยกันสร้างคอนเทนต์ในเวลาอันสั้น ทำให้แพลตฟอร์มเป็นที่นิยมและเติบโตในเวลาอันรวดเร็ว
Lithium-Metal Battery
รถยนต์ไฟฟ้า (EV) นับว่าเป็นอนาคตของยานยนต์ แต่ความท้าทายของผู้ผลิตในปัจจุบัน คือราคาที่สูงและเงื่อนไขการชาร์จแบตเตอรีลิเธียมไอออน ที่จุไฟได้น้อย ทำให้รถวิ่งได้ไม่นาน เดินทางไกลไม่ได้ หยุดชาร์จครั้งหนึ่งก็ใช้เวลานานกว่าจะเต็ม QuantumScape สตาร์ทอัพจากซิลิคอน วัลลีย์ จึงได้คิดค้น Lithium-Metal Battery ซึ่งมีขนาดเล็กลง เพิ่มประสิทธิภาพได้จากเดิมถึง 80% และใช้เวลาเพียง 15 นาที ตอนนี้ QuantumScape ได้ร่วมมือกับ Volkswagen และมีแผนวางที่ใช้แบตเตอรี่รุ่นใหม่นี้ได้ภายในปี ค.ศ.2025 ถ้าทำสำเร็จ น่าจะทำให้ EV เป็นที่นิยมมากขึ้น
Data Trust หมดปัญหาข้อมูลส่วนบุคคล
เรารู้ว่านี่คือยุคสมัยที่ข้อมูลมีบทบาทสำคัญ และเราก็พอจะรู้กันว่ามันมีปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัว ในการที่องค์กรต่างๆ นำข้อมูลของเราไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมหรือการทำฐานข้อมูลหลุด ส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ ต้องออกกฎหมายเพื่อควบคุม ทางออกหนึ่งที่เริ่มมีการเสนอกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น คือสิ่งที่เรียกว่า Data Trust หรือตัวแทนในการดูแลผลประโยชน์ของเจ้าของข้อมูลที่เข้าร่วมกลุ่ม เพื่อให้มั่นใจว่ามีคนกำกับดูแล รวมถึงสร้างอำนาจต่อรองกับธุรกิจต่างๆ ทั้งการรวบรวมข้อมูล การเข้าถึงความเป็นส่วนตัว และการนำไปใช้ ปัจจุบันโครงสร้างของ Data Trust ยังอยู่ระหว่างการตกลงกัน แต่ก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาเรื่องละเมิดความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคล
Green Hydrogen
ไฮโดรเจน นับเป็นพลังงานที่เหมาะที่สุดในการทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล นับตั้งแต่การเผาไหม้ที่สะอาด ไม่สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงสามารถเก็บในรูปของเหลวได้ แต่ประเด็นยังอยู่ที่กระบวนการผลิตไฮโดรเจนในปัจจุบัน ต้องใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งใช้พลังงานจำนวนมากและยังก่อให้เกิดมลภาวะ จนกระทั่งเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา จนสามารถนำไปใช้ผลิตไฮโดรเจนได้ จึงทำให้การผลิตไฮโดรเจนที่ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมนั้นกลายเป็นจริง ตอนนี้ประเทศในยุโรป กำลังเริ่มต้นการวางโครงสร้างพื้นฐานกันแล้ว
Digital Contact Tracing ระบบการจัดการโรคระบาด
ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา เราน่าจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับแอปพลิเคชั่นที่ใช้ GPS หรือบลูทูธ เพื่อบันทึกข้อมูลการไปไหนมาไหน เพื่อตรวจสอบข้อมูลกลุ่มเสี่ยงเมื่อตรวจพบผู้ป่วย และลดโอกาสแพร่กระจายของเชื้อ เทคโนโลยีนี้ จริงๆ แล้วนับว่าเป็นวิธีการเตรียมรับมือการระบาดครั้งที่มีประสิทธิภาพ หากแต่ปัญหาในการใช้กับการจัดการโรคระบาดในครั้งนี้ คือความไม่ไว้วางใจจากประชาชนในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้รัฐ จนทำให้ไม่ใช้แอพฯ และส่งผลให้มีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน จนไม่สามารถจัดดการโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นประเด็นที่ต้องนำไปหาทางแก้ไขต่อไป
Hyper-accurate Positioning ระบบนำทางที่แม่นยำกว่าเดิม
เทคโนโลยี Global Positioning System (GPS) ที่เราใช้กันมาหลายสิบปีนั้น นับว่าเป็นประโยชน์มาก แต่จริงๆ ก็ยังมีความคลาดเคลื่อนในระยะ 5 ถึง 10 เมตร ในอนาคต ระบบนำทางนี้จะถูกพัฒนาให้แม่นยำยิ่งขึ้นอีก โดยจะมีความเคลื่อนเพียงไม่กี่เซนติเมตรหรือมิลลิเมตรด้วยซ้ำ ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างหุ่นยนต์เดลิเวอรีหรือรถไร้คนขับ ปัจจุบันระบบดาวเทียมนำทางของ Beidou (BDS) ก็พร้อมให้บริการครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกแล้ว หลังพัฒนามา 30 ปี ส่วน GPS เอง ก็เพิ่งส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นสู่วงโคจรโลกเพื่อให้บริการแข่งขันกับ BDS
Remote Everything เทคโนโลยีที่รองรับชีวิตทางไกล
การเรียน ทำงาน และให้บริการแบบทางไกล (ออนไลน์) กลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ที่เราทุกคนเริ่มที่จะเคยชิน ปัจจุบัน เราเริ่มเห็นอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือกิจกรรมด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษา แต่ในอนาคต ก็จะเห็นด้านอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีและบริการที่รองรับการใช้งานออนไลน์ก็จะพัฒนาเพิ่มขึ้นในทุกรูปแบบ
Multi-skilled AI ปัญญาประดิษฐ์สารพัดประโยชน์
เราเห็น AI ได้รับการพัฒนาจนก้าวหน้าขึ้นมากในช่วงหลายปีมานี้ แต่ส่วนใหญ่ แม้จะฉลาดมาก แต่ก็จะฉลาดในเรื่องเดียว จึงเริ่มมีแนวคิดเพื่อพัฒนาทักษะของ AI ให้หลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น ด้วยการสร้างประสาทสัมผัสให้ปัญญาประดิษฐ์ ผ่าน Computer Vision เพื่อให้เห็นและเข้าใจภาพตรงหน้า หรือ Audio Recognition เพื่อให้เรียนรู้และจดจำเสียงได้ สุดท้าย เราก็จะได้ AI ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น มองเห็น ได้ยิน รู้สึก และสื่อสารได้แบบมนุษย์ได้ นับว่าทั้งน่าสนใจและน่ากลัวในเวลาเดียวกัน
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
- thematter.co